แนะนำ ประวัติ ผลงาน และทัศนะ

 

   

 

ดร.ทักษิณเก่งจริง หรือมีอะไรเป็นปัจจัยเกื้อหนุน:

บุญวาสนา ความสามารถ โอกาส หรือการผู้ขาด?

โดย

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์

www.chaiyongvision.com 

เมื่อ ฯพณฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้าสมัยที่สอง ได้รับความเชื่อถือและความเชื่อมั่นในด้านการบริหารประเทศเป็นที่ยกย่อง ยอมรับและชื่นชมของคนเกือบทั้งประเทศ แต่เมือย่างเข้าปีที่ ๖ ของการบริหารประเทศ ปรากฏการณ์ต่างๆ ความไม่ชอบมาพากล ในการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน การไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการถูกโจมตีว่า ขายสมบัติของชาติ ขาดจริยธรรม คุณธรรม และขาดความสง่างามในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดความสงสัยว่า “นายกรัฐมนตรีของไทยคนนี้เก่งจริงหรือ” ท่านเป็นผู้โชคดีที่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่สุด ได้คะแนนเสียงท่วมท้นกว่าสิบเก้าล้านเสียง และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง ๓๗๗ คน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และจะไม่มีสมัยไหนชาติใดที่ประเทศไทยจะได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเสียงข้างมากอย่างนี้อีกแล้ว

แต่ทำไมหลังจากบริหารประเทศชาติมาได้ 5 ปี ท่านกลับต้องมาเผชิญเหตุการณ์วิกฤตที่แขวนอนาคตของตนไว้กับความไม่แน่นอน อะไรเป็นปัจจัยทำให้ผู้นำที่เป็นความหวังของชาวไทยส่วนใหญ่ จะต้องมาประสบปัญหาวิกฤตศรัทธาถึงขนาดที่ปัญญาชนเกือบทุกหมู่เหล่าออกมาประท้วงให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ฯพณฯ เก่งจริง หรือเป็นเพราะบุญวาสนา ความสามารถ โอกาส หรือเพราะการผูกขาดจึงทำให้คนผู้นี้ได้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญอันทรงเกียรตินี้

 

ในครั้งที่บุคคลผู้นี้ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว ท่านได้รับปากทำงานสำคัญชิ้นหนึ่งของชาติ คือ การแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นอัมพาตมายาวนาน โดยให้สัญญาประชาชาคมว่า จะดำเนินการจัดระบบและแก้ปัญหาจราจรให้แล้วเสร็จในเวลา ๖ เดือนด้วยงบประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท ชาวกรุงเทพต่างมีความหวัง รวมทั้งผู้เขียนด้วย

ในฐานะเป็นนักจัดระบบทางการศึกษาคนหนึ่งที่ได้พัฒนาระบบการศึกษามาหลายระบบ อาทิ ระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เขียนได้จำลองสถานการณ์วางแผนในใจว่า หาก ท่านจะพัฒนาระบบการจราจรฯ ได้สำเร็จ ก็น่าจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ๔ ขั้น คือ การวิเคราะห์ระบบจราจร การสังเคราะห์หรือสร้างระบบจราจรขึ้นใหม่ พัฒนาแบบจำลองระบบจราจรที่พัฒนาขึ้น และทดสอบระบบก่อนที่จะดำเนินการประกาศใช้ ทั้งนี้เพราะท่านได้เปรียบตรงที่มีโครงสร้างพื้นฐานคือ ดาวเทียมและระบบสื่อสารที่ทันสมัย นั่นคือ ท่านต้องวิเคราะห์ระบบด้วยการหาข้อมูลจำนวนรถยนต์ที่วิ่งเข้าออกถนนสายหลักทั้งแปดทิศ เพื่อดูว่า ช่วงใดรถเข้าออก มากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ใช้ดาวเทียมหรือเทคโนโลยีการสื่อสารอื่น สแกนความเข้มข้นของจำนวนรถที่วิ่งผ่านหรือหยุด ณ สี่แยกสำคัญทั้งหลาย หากมีรถมากสัญญาณก็จะควบคุมระบบสัญญาณไฟเพื่อระบายรถออกไปอย่างรวดเร็ว และใช้เวลามากกว่าทิศทางที่จำนวนรถมีน้อยกว่า ในนัยเดียวกับป้ายจราจรอัจฉริยะของกรุงเทพมหานคร ข้อมูลที่ได้จากกระแสรถวิ่งเข้าออกเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมกระบวนการ และผลลัพธ์ของระบบจราจรที่พัฒนาขึ้น.... แต่ท่านก็มิได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาจราจร

หลายเดือนผ่านไป ก็ไม่เห็นว่าได้มีพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาจราจรแต่อย่างใด นอกจากการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาปิดเปิดธนาคาร การช่วยเหลือตำรวจจราจรให้มีขวัญและกำลังใจในการที่จะอยู่กลางถนนท่ามกลางแดดแผดเผาและความร้อนระอุของถนน ...และแล้วอยู่ๆ ก็มีโปสเตอร์เป็นร้อยเป็นพันแผ่นติดตั้งไว้ที่ช่องแบ่งถนนเต็มไปหมดทั่วกรุงเทพมหานคร เชิญชวนให้ผู้ใช้ถนนรักษากฎจราจร จนเกือบจะถูกชาวมุสลิมประท้วง เพราะมีโปสเตอร์ของพ่อหนุ่มคนหนึ่งสวมหมวกแบนที่แลดูเหมือนหมวกที่ชาวมุสลิมสวมบนศีรษะ กำลังปีนเส้นกั้นถนน... หลังจากโปสเตอร์ชุดนั้นผ่านไปแล้ว ก็ไม่ได้ปรากฏว่า ได้พัฒนาระบบจราจรขึ้นใหม่ จราจรในกรุงเทพ มหานคร ก็ไม่ได้เบาบางลงแต่อย่างใด งบประมาณ 200 ล้านบาทก็ละลายหายไป

จากความประทับใจครั้งนั้น ผู้เขียนก็ไม่ได้เชื่อในความสามารถของท่านผู้นี้ มิวายที่จะเกิดความรู้สึกในใจว่า สักวันหนึ่งท่านผู้นี้ก็คงมีโอกาสเป็นใหญ่ในแผ่นดินไทย ดังที่ผู้เขียนเคยชี้ให้เพื่อนๆ ดูภาพบนปกสามรัฐฉบับสัปดาห์วิจารณ์ และทำนายในพ.ศ. ๒๕๒๒-๒๓ ว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์จะได้เป็นใหญ่ในการบริหารประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ท่านก็มีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างสูงว่า ตนเป็นคนมีความรู้ความสามารถรอบด้าน อาทิ สาธิตการแก้ความยากจน ที่ได้มีการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ “เรียลลิตี้โชว์”จากอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านได้สาธิตการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการแจกเงินแจกที่ดิน ... แน่นอนจะไม่มีนายอำเภอหรือนักบริหารคนใดนำไปใช้ได้ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะนำทรัพย์ไปแจกจ่ายชาวล้านได้

ก่อนหน้านี้สองสามปี ท่านก็ไปสาธิตวิธีการให้ครูอาจารย์ ด้วยการไปสาธิตการสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แต่ท่านจะได้มีโอกาสทราบหรือไม่ว่า ครูอาจารย์เขาวิจารณ์วิธีการสอนของท่านว่าอย่างไร?

 

ในการประชุมกลุ่มกุหลาบแดงเมื่อเกือบแปดปีมาแล้ว ท่านได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกให้สมาชิกในกลุ่มฟังถึงวิสัยทัศน์ทางการเมืองและการก่อตั้งพรรคใหม่ (ยังอยู่ระหว่างการประกวดชื่อพรรค) วิสัยทัศน์ของท่านไม่เป็นที่ประทับใจมากนัก ผู้เขียนยังแคลงใจในความสามารถของท่านที่จะเข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ตามไม่กี่ปีหลังจากนั้นท่านก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเพราะบุญวาสนา โอกาส และการผูกขาด ผสมกับความสามารถที่ไม่โดดเด่นอะไรมาก จึงส่งผลให้ท่านได้อำนาจรัฐและกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย

ณ เวลานี้ ผู้เขียนจึงยืนยันความรู้สึกเดิม คือแคลงใจในความสามารถของนายกรัฐมนตรีที่กำลังเป็นตัวการนำประเทศชาติไปสู่วิกฤตการณ์ความแตกแยกของชาวไทยในปัจจุบัน

ท่านได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์หลายเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่ผู้เขียนคลางแคลงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนทุกหมู่เหล่า พึงพอใจ แซ่ซ้องสรรเสริญ ไม่ปล่อยให้ประชาชนประท้วงวิพากย์ วิจารณ์ ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน หรือกล่าวหาผู้ไม่เห็นด้วยว่า อิจฉาริษยา กลั่นแกล้ง และทำตนเป็น “กฎหมู่” อยู่เหนือ “กฎหมาย”

 โอกาสก็มีส่วนอำนวยให้ท่านประสบความสำเร็จ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านมองเห็นการณ์ไกลที่จะสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง โดยฉกฉวยโอกาสรับสัมปทานจากรัฐบาล รสช.

คนของรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือข้าราชการประจำในสมัยนั้น ก็แกล้งโง่ที่ไม่สามารถประเมินได้ตรงกับความเป็นจริงว่า ธุรกิจโทรศัพท์มือถือก็ดี ดาวเทียมสื่อสารก็ดีควรจะจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐปีละเท่าไร เพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ปล่อยให้ผู้ได้รับสัมปทานรับกำไรต่อปีมากมายมหาศาลหลายหมื่นล้านบาท จนร่ำรวยและได้อำนาจรัฐในที่สุด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านเป็นคนมีบุญวาสนา ไม่ว่าจะเกิดจากความดีที่สั่งสมมาในอดีตชาติจึงได้เสวยโภคทรัพย์มากมาย หรือจะเป็นเพราะกรรมรวมของชาวไทยที่จะต้องมาอยู่ใต้เงื้อมมือของคนผู้นี้ก็สุดจะเดา แต่ที่แน่นอนคือ ท่านอาศัยโอกาสที่คนอื่นไม่มีหรือทำไม่ได้ คือ การผูกขาด (Monopoly) จากธุรกิจที่ได้รับสัมปทานและไร้คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือในยุคแรก ดาวเทียมที่ได้รับพระราชทานชื่อ “ไทยคม” ฯลฯ เมื่อเข้าสู่วงการเมืองก็ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบผูกขาดในรัฐสภา ด้วยการหาเสียง ชูนโยบายประชานิยม และคำมั่นสัญญาที่จะให้ จนได้รับความนิยมท่วมท้นจนไม่มีใครสามารถอภิปรายตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้

แต่บุญวาสนาก็เป็นเพียงทุนเดิมที่ร่อยหรอได้ หากไม่สั่งสมบุญต่อเนื่องบุญก็หมดลงได้ เมื่อบุญพร่องลง วาสนาก็จะไม่ส่งผลหรือช่วยประดับประคองไม่ได้

บุญเหมือนพลังงาน เหมือนน้ำ เหมือนอากาศ วาสนาเหมือนเครื่องยนต์ หากบุญหมด วาสนาก็ไม่ทำงาน เหมือนเรือที่น้ำแห้งก็ไม่ลอย กังหันหรือหางเสือก็ใช้ไม่ได้ เครื่องบินที่นำมันหมดเครื่องยนต์ก็ดับ ขาดอากาศก็ตกหลุมอากาศ ไอพ่นก็ขับเคลื่อนไม่ได้

มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน แม้บุญจะหนุนให้ได้อำนาจมีตำแหน่งใหญ่โต แต่หากบุญเหือดหายไปเหมือนน้ำเหือด น้ำมันหมด หรืออากาศวาย วาสนาก็จะส่งผลให้ทรงสภาวะอยู่ไม่ได้ คนที่ตกอยู่ในบ่อลึกก็เช่นกัน เมื่อน้ำขึ้นก็จะดันเขาให้ขึ้นมาถึงปากบ่อ หากไม่พยายามปั๊มน้ำเข้าไปในบ่ออย่างต่อเนื่อง น้ำก็จะลดลง คนผู้นั้นก็จะตกลงไปที่ก้นบ่ออีก และจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้

คนที่เข้าสู่อำนาจทางการเมือง หากปล่อยให้กิเลส คือ โมหะ โลภะ และโทสะ ครอบงำก็จะกลายเป็นคนหลงว่า อำนาจคือแก้วสารพัดนึก ก็จะโลภอำนาจ หลงว่า เงินคือพระเจ้าก็จะโลภเงิน เมื่อโลภอำนาจโลภเงินก็หวงแหนไม่อยากเสียอำนาจ ไม่อยากเสียเงิน เมื่อมีใครขัดขวาง วิพากษ์วิจารณ์ก็จะเกิดโทสะ เริ่มจากความฉุนเฉียวก่อน ตามด้วยความหงุดหงิด ขุ่นเคืองและโกรธแค้น กิเลสจึงเป็นไวรัสทำลายบุญ และทำให้คนผู้นั้นตาบอด มองไม่เห็นความผิดถูกหรือชั่วดี ยิ่งมีกิเลสมาก บุญก็ยิ่งหมดเร็ว ผลงานความดีที่สั่งสมมาก็จะถูกเผาผลาญวอดวาย ความดีหรือผลงานที่ตนเองทำไว้ก็จะเหลืออยู่ในความทรงจำเท่านั้น เหมือนบ้านที่ถูกไฟไหม้ สมบัติทุกอย่างก็ถูกเผาผลาญเป็นจุนไปฉันนั้น

สำหรับผู้นำคนนี้ ท่านจะถูกครอบงำด้วยกิเลสคือ ความหลง ความโลภหรือโทสะหรือไม่ ผู้อ่านก็คงวินิจฉัยได้เอง และตัดสินได้ว่า ท่านเก่งจริงหรือเป็นเพราะบุญวาสนา ความสามารถ โอกาส หรือการผูกขาดกันแน่!!!

 

ปทุมวัน

๖ มีนาคม ๒๕๔๙ ๑๒.๕๐ น.


ดร. ชัยยงค์ พรหมวงศ์

ศาสตราจารย์ ระดัีบ ๑๑

(ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ ทางการศึกษา คนที่ ๒ ของประเทศไทย)

หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเป็นผู้พัฒนาระบบการสอนทางไกล "แผนมสธ." (อ่านรายละเอียด)

อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

 อนุกรรมาธิการอุดมศึกษา วุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และวัฒรธรรม วุฒิสภา

อดีต:

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรองอธํิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า

ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

UNESCO/UNDP Expert (Indonesia, Sri Lanka, Maldives, Laos, Malaysia, Japan, India, Pakistan)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

k

 
FastCounter by bCentral
Created:  February, 2006

E-mail: chaiyong@irmico.com

โปรดติดตามที่นี่!!!

เสนอทัศนะทางเศรษฐกิจและการเมือง การศึกษา ธรรมะกับชีวิต ศิลปะวัฒนธรรม ประวัติและผลงาน การวิจัย พระพุทธอุบัติภูมิ งานสร้างสรรค์ทำให้มสธ. ฯลฯ ทุกสัปดาห์